ปั๊มน้ำมัน – A Gas Station 2016

เรื่องย่อหนัง
หนัง Pam-Nam-Mon หรือชื่อไทยว่า ปั๊มน้ำมัน ปั๊มน้ํามัน ณ ถนนริมท้องทุ่งนาแห้งแล้งห่างไกลความเจริญ มีปั๊มน้ํามันเล็กๆเป็นปั๊มน้ํามันเดียวที่มีอยู่ในละแวกนี้ที่นี่มีเจ้าของปั้มเป็นชายหนุ่มหล่อในชุดคาวบอยชื่อ มั่น(ปั้นจั่น ปรมะ) เขาอาศัยอยู่คนเดียวเพื่อรอคอยคนรักนก(หนูจ๋า-อาชิรญาณ์) ซึ่งหลังจากแต่งงานได้ไม่นานนกก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยมั่นเฝ้ารอนกทุกวันด้วยความหวังว่าเธอจะกลับมาแม้เวลาจะผ่านไปปีแล้วปีเล่าก็ตาม ในระหว่างนั้นก็มีเจ๊มัท(ต่าย-เพ็ญ

พักตร์) สาวใหญ่ในชุดไทยสีแดงสดนางเป็นแม่ค้าขับรถพุ่มพวงขายของชําอยู่ในหมู่บ้านที่เทียวมาหามั่น เอาข้าวเอาน้ําเอาของใช้ต่างๆมาให้เขาอยู่เสมอ และก็มีฝน(แมกกี้-อาภา) เด็กสาวม.ต้นอายุ 15 ปี ในชุดเจ้าหญิงดิสนี่ย์ที่มักจะขี่มอเตอร์ไซค์มาที่ปั๊ม เธอชอบมานั่งเล่าว่ามีใครเรียนอยู่ห้องไหนมาจีบเธอบ้างถึงแม้มั่นจะไม่สนใจแต่เธอก็เล่าของเธอไป เหนื่อยก็ขี่รถกลับบ้าน ทั้งหมดก็ใช้ชีวิตประจําวันแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ตัวอย่างหนังออนไลน์

รีวิวหนัง
ปั๊มน้ำมัน (A Gas Station) (ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ / Thailand / 2016)
หนังไทยส่วนใหญ่ในปีนี้ ต่างก็มีแผลใหญ่ๆ เกิดขึ้นกับความคิดความรู้สึกส่วนตัวที่เรามีต่อทิศทาง ร่องรอย หรือความสมบูรณ์แบบของหนัง ซึ่งทำให้เราชอบเรารักได้ไม่สุดใจ บนทางไปของแต่ละเรื่องที่สามารถกินใจเราได้อีกหากเพิ่มหรือลดทอนบางอย่างแค่นิดเดียว “ปั๊มน้ำมัน A Gas Station” ก็เป็นอีกหนึ่งในนั้น แต่เรื่องราวของกลุ่มคนที่ต่างคนต่างรอคอยและติดอยู่กับคนที่ตัวเองหมายมั่นปั้นรัก จมปลักกับการรอจนชินเป็นกิจวัตรเนี่ยมันก็ทำให้เราเข้าอกเข้าใจหนังได้ไม่ยาก แถมเสน่ห์ของมันคือความเวียร์ดที่มีรายละเอียดขนบชีวิตและความเป็นมนุษย์มนาอยู่สูง ซึ่งไม่ง่ายและหาดีได้ยากท่ามกลางหนังไทยสไตล์นี้ ระหว่างทางของหนังเต็มไปด้วยร่องรอยต่อ และพื้นที่ว่างให้เราได้ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเชื่อมโยงและเติมมันลงไปในถังเชื้อเพลิง หรือกระทั่งหากใครต้องการปล่อยให้มันล้นทะลักระบายถ่ายเทออกมา พร้อมความรู้สึกสุขๆ เศร้าๆ หนังเรื่องนี้ก็ยังให้เราได้

จึงกลายเป็นหนึ่งในหนังไทย (รวมทั้งฉายโรงปกติและเทศกาลหนัง) ของปีนี้ ที่เอ็นจอยและชอบเป็นอันดับต้นๆ สูสีขี่คอมากับ เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ (อุรุพงษ์ รักษาสัตย์ / Documentary), I Want You to Be (บัณฑิต สินธนภารดี) และ Island Funeral (พิมพกา โตวิระ) ในเวลานี้.. (ฝั่งหนังสตูดิโอตอนนี้ชอบ 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น (อารยะ สุริหาร) ที่สุด ซึ่งอาจจะติด Top 10 Thai feature film ปีนี้ก็ได้) รอดูก็แต่ ดาวคะนอง (อโนชา สุวิชากรพงศ์) กำลังหาเวลาเหมาะๆ ไปดูให้ได้
แม็กกี้-อาภา ภาวิไล กับบทบาท ฝน สาวสวยที่ดูไร้ (เดียง) สาระที่สุดในหนังเรื่องนี้ ที่หนังอย่างของ พจน์ อานนท์ หรือหนังของค่าย M๓๙ มักจะมีตัวละครประเภทนี้ เพื่อรับใช้มุกตลกเรียกเสียงหัวเราะแบนๆ อย่างเดียว แต่ในเรื่องนี้กลับรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ และงดงามหลากมิติที่สุด ตั้งแต่เคยเห็นแม็กกี้มาจากหนังเรื่องแรกอย่าง คน-โลก-จิต (2012) และผลงานที่โดดเด่นอย่างบทสาวใบ้ใน ผีห่าอโยธยา (2015) ที่ทำให้เธอได้เข้าชิงรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง รวมถึงบทบาทของ โกสุม ใน แม่เบี้ย (2015) ที่เธอต้องเปลือยอวดทรวดทรงอกเอว ที่พอบวกกับฝีมือถ่ายทอดอารมณ์ดราม่านิ่งๆ จนทำให้เธอได้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ แถมยังได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (รองชนะเลิศ) ในบทเดียวกัน จากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และการกลับมาครั้งนี้ของแม็กกี้ ที่ถึงจะไม่ใช่ในฐานะนักแสดงนำอย่างเคย แต่ความสามารถที่ปรากฏให้ได้เห็นก็ทำให้มั่นใจมากว่าหนัง ปั๊มน้ำมัน จะพาเธอไปโลดแล่นบนทุกเวทีรางวัล และมีโอกาสที่จะกวาดรางวัลได้เกินกว่าครึ่งอย่างแน่นอน
และทุกเวทีนั้นจะต้องมี ต่าย-เพ็ญพักตร์ ศิริกุล แนบขนาบไปในทุกรายชื่อผู้เข้าชิง เพราะเธอยังคงรักษาความเป็นนักแสดงมากบทบาท และเข้มข้นในฝีมือได้เสมอต้นเสมอปลาย ที่สำคัญคือในเรื่องนี้ เธอแบกรับตัวละครที่คนดูต่างลงความเห็นกันว่าน่าสงสารและน่านับถือ ในความรักที่เธอมีให้กับพระเอกเจ้าของปั๊มน้ำมันมากที่สุดในเรื่อง ซึ่งในฉากไคลแม็กซ์เธอก็ทำให้คนดูต่างยิ้มทั้งน้ำตาได้ไปตามๆ กัน ส่วน หนูจ๋า-อาชิรญาณ์ ที่ได้แสดงฝีมือดราม่าหนักๆ ครั้งแรกก็ถือว่าน่าพอใจ ซึ่งเธอรับบท นก หญิงสาวผู้ถือแต้มเหนือกว่าผู้หญิงอื่น ที่เข้ามาตกหลุมรักผู้ชายคนเดียวกัน ซึ่งเธอดูแข็งกร้าว แต่ในขณะเดียวกันก็อ่อนโยนและอ่อนแอนั้น คาแร็กเตอร์ สีหน้าท่าทางของเธอ สร้างมิติและความว่างเปล่าให้เราเกิดคำถามขึ้นกับตัวละครได้ดีมากๆ ถึงแม้ว่าตอนท้ายๆ ที่เธอต้องรับบทหนักจะเบาบางกว่าสองนักแสดงหญิงแกร่งที่ว่าไปก่อนหน้า
ส่วน ปั้นจั่น-ปรมะ ที่รับบทนำ และต้องรับมือกับผู้หญิงหลากหลายแบบ ก็ชั่งตัวเองไว้ตรงกลางให้ทั้ง แม็กกี้ ต่าย และหนูจ๋า ได้โลดแล่นแวดล้อม ช่วยดึงให้ตัวละครอื่นโดดเด่น ขณะที่เขาเองก็รักษาน้ำหนักของตัวละครผู้ชาย ที่เชื่อในการรอคอยคนรักที่จะกลับมาได้อย่างมั่นคง นักแสดงจากหนังเรื่องเดียวน่าจะทำให้รางวัลสายนักแสดงปีนี้คึกคักขึ้นได้อีกมาก ส่วนผู้กำกับอย่าง กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน ที่นอกจากจะขุดตัวตนและทัศนคติเกี่ยวกับความรักออกมาให้เราได้ดำดิ่งกับความสุขกับการรอคอย ที่แฝงเร้นด้วยความร้าวรานแล้ว ยังแต่งเติมเสริมบทหนังด้วยส่วนประกอบไอเดียความกึ่งสมจริง ซึ่งสื่อสารประเด็นและมุมมองหลายๆ อย่าง โดยที่ไม่ต้องพูด ไม่ต้องเล่าผ่านแอ็คชั่นได้น่าสนใจมากๆ การกำกับนักแสดงก็ดีมาก ขนาดที่พอได้ลองสแกนคร่าวๆ แล้วก็พบว่า มันโดดเด่นถึงขั้นเป็นงานกำกับการแสดงที่น่าสนใจที่สุดในกลุ่มหนังไทยในปีนี้ เพลงและดนตรีประกอบหนังก็เพราะและดีมาก แถมงานภาพยังถ่ายทอดโลเคชั่นและจับโมเม้นท์แสงของแต่ละช่วงเวลา สนับสนุนความรู้สึกตัวละครในแต่ละฉากได้อย่างงดงาม เชียร์ให้เข้าชิงรางวัลทุกอย่างที่พูดมาเลย
ยังไม่ขอเขียนตีกรอบแกะความหมายทางเพศ-ศีลธรรม สังคม หรือการเมืองที่ซ่อนอยู่ใดๆ ไว้สะสางงานเสร็จจะไปดูมาอีกรอบแล้วจะมาเพิ่มเติม แต่ขอชมเชยไว้ก่อนแค่ว่า ภายใต้น้ำตาและเสียงหัวเราะที่ได้จากหนังเรื่องนี้ ประเด็นเหล่านั้นมันช่างมีพลัง งดงาม และแยบยล จนเรามองข้ามความไม่สมบูรณ์แบบของหนังไปได้ไม่ยากเย็น ในความที่เป็นหนังรัก มันก็สามารถแซงหน้าหนังความผูกพันผ่านจดหมายขายซึ้งขายสวย อย่าง Bangkok to Mandalay ถึงคน..ไม่คิดถึง (ชาติชาย เกษนัส) ซึ่งเป็นที่พูดถึงในฐานะหนังรักและหนังไทยที่น่าสนใจอีกเรื่องได้ จนทำให้ “ปั๊มน้ำมัน” กลายเป็นหนังรักตลกปนเศร้าเคล้าซึ้งที่เรารักที่สุดในปีนี้อย่างแน่นอน และสุดท้ายคือการมีอยู่ของตัวละครน้องซิน (เดอเรลล่า) ช่างชวนให้นึกถึงภาพชีวิตที่หลากหลายลงลึก เปรียบเปรยความสัมพันธ์ไปไกลถึงระดับโครโมโซมดีเอ็นเอแห่งชาติพันธุ์อย่างน่าจดจำ..