การอบรมลูกด้วยวิธี Time in แบบพูดคุย

หนึ่งในวิธีการอบรมลูกที่ได้ผลดีคือการทำ Time in ซึ่งเป็นการใช้เวลาด้วยกันเพื่อกำจัดความคับข้องในใจลูก วิธี time in ที่นิยมมากมีสองวิธีด้วยกัน คือ การพูดคุยและการกอด ในบทความนี้เราจะพูดถึงการพูดคุยกันค่ะ
เริ่มต้นงายๆ ด้วยการนั่งลงบนเก้าอี้ หรือในที่ที่คุณสามารถมองลึกลงไปในดวงตาของลูกได้ ในระหว่างการคุย คุณต้องระลึกเสมอว่าคุณไม่ได้มาตั้งป้อมด่าลูก แต่คุณกับลูกมาคุยกัน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและสร้างความรู้สึกถูกผิดดีชั่วในใจลูก มีเทคนิคง่ายๆ 3 ประการ
1. ตั้งคำถาม สมมุติว่าคุณและลูกจะทำ Time in เพราะเธอดึงผมน้องแอ้มเพื่อนในชั้นเรียน คุณอาจตั้งคำถามก่อนว่า “เพราะอะไรหนูถึงดึงผมน้องแอ้ม” อย่าใช้คำว่า ‘ทำไม’ เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกตำหนิ แต่ใช้คำว่า ‘เพราะอะไร’ เพื่อบอกให้รู้ว่าคุณอยากรู้เหตุผลจริงๆ หรือถามว่า “หนูคิดอะไรอยู่ตอนดึงผมน้องแอ้ม”
2. ตั้งใจฟัง บ่อยครั้งที่เด็กยังไม่เข้าใจอารมณ์ของตัวเอง นั่นทำให้เขาเกิดความคับข้องใจ คุณควรช่วยด้วยการฟังอย่างตั้งใจและยอมรับอารมณ์ของลูก เช่น เมื่อลูกบอกว่า “น้องแอ้มหาว่าหนูมีเหา หนูเลยดึงผมยายนั่นซะกระจุยเลย” คุณไม่ต้องสนใจเหาหรือผมกระจุย แค่พูดว่า “หนูคงโกรธมากเลยที่น้องแอ้มพูดอย่างนั้น”
3. ทำให้ลูกเข้าใจในความผิดของตัวเอง สำหรับเด็กเล็ก คุณต้องทำให้ลูกรู้ว่าการที่ลูกรู้สึกอย่างไรนั้นมันไม่ผิด แต่พฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นมันยอมรับไม่ได้ เช่น คุณอาจบอกว่า “แม่เข้าใจว่าหนูโกรธน้องแอ้มมาก คนเราโกรธได้นะจ๊ะ แต่ดึงผมเพื่อนไม่ได้ การดึงผมเป็นการใช้กำลัง มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีและแม่ก็ยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้” สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยคุณอาจตั้งคำถามว่า “หนูคิดว่าน้องแอ้มรู้สึกยังไงที่หนูดึงผมเขา” การที่ลูกบอกได้ว่าเพื่อนรู้สึกอย่างไร คือ การเสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจที่จะนำไปสู่ความรู้สึกผิดและการรับผิดต่อมา
4. ปิดท้ายด้วยคำแนะนำ ในเด็กเล็กคุณต้องบอกลูกว่าลูกควรทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้ เช่น บอกลูกว่า “หนูรู้แล้วว่าการดึงผมไม่ดีและหนูก็รู้สึกผิดเพราะฉะนั้นเราไปขอโทษน้องแอ้มกันนะคะ บางทีหนูอาจจะบอกน้องแอ้มด้วยว่าหนูเสียใจมากที่น้องแอ้มหาว่าหนูมีเหา เธอก็ควรจะขอโทษหนูด้วยเหมือนกัน” สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย คุณอาจตั้งคำถามให้ลูกคิด เช่น “หนูดึงผมน้องแอ้ม และหนูก็คิดออกแล้วว่าน้องแอ้มรู้สึกยังไง ทีนี้หนูคิดว่าหนูควรจะทำยังไงต่อจ๊ะ”
การทำ Time in ด้วยการพูดคุยเป็นวิธีที่ได้ผลดี เพราะทำให้เด็กยอมรับอารมณ์ของตนเอง เข้าใจเหตุผลและฝึกใช้เหตุผลควบคุมพฤติกรรม นี่จึงเป็นวิธีที่เหมาะในการอบรมเด็กเอามากๆ